วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2551

น้ำส้มควันไม้ ภูมิปัญญาชาวบ้านสร้างสารอินทรีย์

นายเชิด พันธ์เพ็ง แกนนำชุมชน จ.อยุธยาเล่าว่า ทราบว่าทางมหาวิทยาลัยนเรศวร จังหวัดพิษณุโลกได้ทดลองทำสารสกัดน้ำส้มควันไม้ขึ้น จึงได้ชักชวนกันไปศึกษาดูงาน จากนั้นจึงได้ลงมือปฏิบัติทำน้ำส้มควันไม้ ภูมปัญญาชาวบ้าน สร้างสารอินทรีย์ขึ้นมา แรกเริ่มมีคนทำอยู่ 10 คน โดยชาวบ้านจะนำไม้ที่กรมทางหลวงตัดทิ้ง จากการตัดแต่งต้นไม้ริมถนนหรือใช้ไม้ในสวนบ้าง โดยมีข้อแม้ว่าจะต้องทำครัวเรือน ไม่ให้ทำเป็นเชิงธุรกิจ เพราะจะทำให้ต้นไม้หมดไปได้ ถ้าไม่มีการปลูกทดแทน

ขั้นตอนในการทำน้ำส้มควันไม้ เริ่มจากก่ออิฐบล็อก กว้างและสูงประมาณ 1.5 เมตร และยาวประมาณ 2 เมตร นำถังน้ำมัน 200 ลิตรที่ตัดปากให้กว้างและเจาะปลายถังให้เท่ากับกระบอกไม้ไผ่ที่นำมาวางแล้วใส่ตะแกรง นำไม้ที่จะเผาใส่ลงไปในถังแล้วติดไฟจนคิดว่าเตาติดแล้วจึงปิดปากเตาพอประมาณฝ่ามือเพื่อปล่อยอากาศเข้าไป เมื่อดูแล้วควันเป็นสีน้ำตาลจึงนำไม้ไผ่ไปครอบไว้กับท้ายเตาเผาที่มีปล่องเจาะไว้เพื่อจะให้อากาศออก เมื่อความร้อนที่เผาไหม้ลอยออกทางปลายไม้ไผ่กระทบกับความเย็นรวมตัวกันเป็นหยดน้ำแล้วทิ้งไว้จนเตาเผาดับใช้เวลาประมาณ 24ชั่วโมง ก็จะได้น้ำส้มควันไม้ โดยเตาหนึ่งจะได้น้ำส้มควันไม้ประมาณ 5 ลิตร นำมาทิ้งไว้ให้ตกตะกอนประมาณ 3 เดือน จึงนำออกมาทดลองใช้ ส่วนถ่านที่ได้ก็สามารถนำไปขายถือว่าได้กำไรสองต่อ

จากการทดลองใช้น้ำส้มควันไม้กับพืช เช่นผักบุ้ง เริ่มตั้งแต่เตรียมดินแล้วฉีดยาพ่นตากดินทิ้งไว้จึงปลูกผัก เมื่อพืชแทงยอดอ่อนขึ้นมาจึงฉีดพ่นน้ำส้มควันไม้ลงไปอีกประมาณ 3 ครั้ง โดยอัตราส่วนที่ใช้น้ำส้มควันไม้ 20 ซีซี ต่อน้ำ 200 ลิตร จะไม่มีแมลงมารบกวนเลย ลำต้นจะแข็งแรงมาก เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วน้ำหนักดี ทิ้งไว้ค้างคืนลำต้นจะไม่เหลือง รสชาดดี เป็นที่ยอมรับของตลาด

ไม่มีความคิดเห็น: