วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2551

โครงการพระราชดำริการยกร่องปลูกพืชในพื้นที่พรุ




ความเป็นมา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแนวทางในการขุดยกร่องสำหรับพื้นที่ดินเปรี้ยวจัด สำหรับเป็นตัวอย่างให้เกษตรกร ให้ขุดเอาหน้าดินสีดำซึ่งเป็นดินดีจากแนวคูน้ำไปเสริมหน้าดินบนสันร่อง ทำให้ได้หน้าดินดีหนามากขึ้น ดินด้านล่างที่ขุดขึ้นมาใช้เสริมสันร่องด้านข้าง กรดที่เกิดขึ้นจะถูกชะล้างลงไปยังคูน้ำด้านข้างได้ง่าย น้ำเปรี้ยวในคูน้ำ ต้องมีการถ่ายเทออกไป แล้วนำน้ำดีเข้ามาแทนที่อย่างสม่ำเสมอ


การดำเนินงาน

ก่อนขุดยกร่องต้องสำรวจความลึกของชั้นดินเลน เมื่อทราบแล้วให้ขุดลึกเพียงแค่ระดับดินเลน เพื่อป้องกันการเกิดปฏิกิริยาเติมออกซิเจน อาจจะทำให้ดินเป็นกรดจัดมากขึ้นขั้นตอนการขุดร่องพอสรุปได้ดังนี้ ก) วางแนวร่องให้เหมาะสมกับชนิดของพืชที่จะปลูก ซึ่งโดยทั่วๆ ไปสันร่องจะกว้างประมาณ 6 - 8 เมตร ส่วนท้องร่องกว้างประมาณ 1 - 1.5 เมตร ข) ระหว่างร่องที่จะขุดคู ให้ใช้แทรกเตอร์ปาดหน้าดินมาวางไว้กลางสันร่อง หน้าดินของดินเปรี้ยวจัด ส่วนใหญ่จะมีอินทรีย์วัตถุสูง และค่อนข้างร่วนซุย จึงมีประโยชน์มากหากจะนำมากองไว้ช่วงกลางสันร่อง มิฉะนั้นหน้าดินดังกล่าวจะถูกดินที่ขุดขึ้นมาจากคูกลบเสียก่อน ค) ขุดดินจากคูที่วางแนวไว้มากลบบริเวณขอบสันร่องที่หน้าดินถูกปาดออกไปแล้ว สันร่องจะสูงอย่างน้อย 50 ซม. เหมาะที่จะปลูกไม้ผลหรือไม้ยืนต้นต่างๆ ง) เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมควรมีคันดินที่อัดแน่นล้อมรอบเพื่อป้องกันน้ำซึม มีระดับความสูงมากพอที่จะป้องกันน้ำท่วมในช่วงฤดูฝน จ) ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อสูบน้ำเข้า - ออก เนื่องจากน้ำในคู หากปล่อยทิ้งไว้นาน 3 - 4 เดือน จะแปรสภาพเป็นกรดจัด จึงควรมีการถ่ายเทน้ำออก 3 - 4 เดือนต่อครั้ง แล้วสูบน้ำดีเข้ามาแทน ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมมาก ควรยกร่องเตี้ยๆ เพื่อพืชล้มลุกหรือพืชผักแทน โดยปลูกเป็นพืชหมุนเวียนกับการปลูกข้าว กล่าวคือปล่อยให้ท่วมร่องส่วนในฤดูฝน แล้วปลูกข้าวบนสันร่อง ก็จะช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายเพราะไม่จำเป็นต้องสูบน้ำออกพอพ้นฤดูฝนก็ปลูกพืชผักหรือพืชล้มลุกแทนสลับกันไป


การขยายผล

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองฯ ได้นำแนวพระราชดำริในการขุดยกร่องเพื่อปลูกพืชมาดำเนินการในแปลงทดลองของศูนย์ฯ จนประสบผลสำเร็จ สามารถปลูกพืชไร่ พืชผัก ไม้ผล พืชเศรษฐกิจต่างๆ ได้ และขยายผลดำเนินงานด้วยวิธีการนี้ไปสู่พื้นที่เป้าหมายได้แก่ พื้นที่หมู่บ้านรอบศูนย์ฯ พื้นที่พรุบาเจาะ พื้นที่พรุกาบแดง บ้านโคกอิฐ - โคกใน บ้านโคกกระท่อม บ้านยูโย และส่งเสริมให้คำแนะนำแก่เกษตรกรที่สนใจในการปรับปรุงดินเปรี้ยวจัดในเขตจังหวัดอื่นๆ ด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: