วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2551

ภูมิปัญญาในการทำน้ำอ้อยของเกษตรกรในอำเภอพร้าว


น้ำอ้อยเป็นน้ำตาลชนิดหนึ่งที่ทำจากอ้อยโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นของเกษตรกรในแต่ละพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ไม่มากนักอำเภอพร้าวเป็นพื้นที่แห่งเดียวในจังหวัดเชียงใหม่ที่เกษตรกร ประกอบอาชีพ ทำน้ำอ้อยเป็นอาชีพ เสริมหลังการทำนาเพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่ครอบครัว เป็นอาชีพที่ทำกันมานานโดยสืบทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่เครื่องมือและอุปกรณ์การพัฒนา เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น ในสมัยก่อนใช้แรงงานสัตว์ช่วยในการหีบอ้อย เปลี่ยนเป็นใช้เครื่องยนต์แทน จากที่เคยปลูกอ้อยพันธุ์พื้นเมืองก็เปลี่ยนเป็นพันธุ์ใหม่ที่ให้ผลผลิตมากกว่าเดิม และทำเป็นก้อน น้ำอ้อยสมัยก่อนจะใช้วิธีตักหยอดที่ละก้อน ปัจจุบันก็ใช้วิธีเทลงบนแบบพิมพ์ ซึ่งทำได้เร็วกว่า และทำเป็นน้ำอ้อยผงตามที่พ่อค้าต้องการ การทำน้ำอ้อยถือได้ว่าเป็นการแปรรูป ผลผลิต ทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าโดยเกษตรกรเอง การแปรรูปอ้อยจะเริ่มตั้งแต่การปลูกอ้อยครั้งแรกในช่วงปลายฤดูฝนประมาณเดือน ตุลาคม-พฤศจิกายน พอครบ 1 ปีก็สามารถตัดอ้อยมาแปรรูปได้ อ้อยที่ปลูกสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ นาน 3-4 ปี จึงจะรื้อปลูกใหม่ เกษตรกรจะตัดอ้อยให้พอหีบ หมดในแต่ละวันเท่านั้นการหีบอ้อยจะเริ่ม ตั่งแต่เช้ามืด เมื่อหีบเสร็จก็จะเริ่มเคี่ยวทันที โดยเคี่ยวในกะทะขนาดใหญ่ และใช้กากอ้อย ที่หีบเอาน้ำอ้อยออกแล้วไปตากให้แห้ง นำมาเป็นเชื้อเพลิงในการเคี่ยวน้ำอ้อย ฉะนั้นถ้าฝนตก เกษตรกรก็จะหยุดหีบอ้อยเพราะไม่มีเชื้อเพลิงในการเคี่ยวน้ำอ้อย การทำน้ำอ้อยในอำเภอพร้าวจะมีเฉพาะพื้นที่ 2 ตำบลซึ่งเป็นเขตพื้นที่ติดต่อกัน คือ บ้านห้วยกุ บ้านป่าตุ้ม ตำบลป่าตุ้ม และบ้านสหกรณ์ ตำบลเขื่อนผาก ในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ประมาณเดือน ธันวาคม ถึงเดือน มีนาคม ของทุกปี สามารถเข้าไปดูกระบวนการแปรรูปอ้อย ของเกษตรกรได้ ซึ่งมีเหลืออยู่ไม่มากในปัจจุบัน

ไม่มีความคิดเห็น: